| EXHIBITION |
ดำรงในการณ์ อื่น (LIVING ANOTHER FUTURE)
แซมมี่ บาโลจี้, หลิว ชวง, ไนซ่า ข่าน, คไว สัมนาง, ตวน แอนดรูว์ เหงวียน, ซาร่า อูฮัดดู, แดนสรวง สังวรเวชภัณฑ์, อุบัติสัตย์
ศิลปินร่วมแสดง: แซมมี่ บาโลจี้ (บรัสเซลส์/ลูบุมบาชี); หลิว ชวง (เซี่ยงไฮ้); ไนซ่า ข่าน (การาจี/ลอนดอน); คไว สัมนาง (พนมเปญ); ตวน แอนดรูว์ เหงวียน (นครโฮจิมินห์); ซาร่า อูฮัดดู (มาราเคช/ปารีส); แดนสรวง สังวรเวชภัณฑ์ (กรุงเทพ); อุบัติสัตย์ (เชียงใหม่)
นิทรรศการกลุ่มจัดขึ้นโดยพิพิธภัณฑ์ศิลปะร่วมสมัยใหม่เอี่ยม ร่วมกับสถาบัน อิน-แทนจิเบิล ภัณฑารักษ์โดย โซอี้ บัต ด้วยการสนับสนุนโดย อารียนา ชัยวาระนนท์ และ กมลพรรณ ทิวาวงค์ (ผู้ได้รับทุนทำงานด้านภัณฑารักษ์จากอิน-แทนจิเบิล สนับสนุนโดยใหม่เอี่ยม)
ระยะเวลาการจัดแสดง: 24 พฤษภาคม พ.ศ. 2567 - 3 มิถุนายน พ.ศ. 2568
พิธีเปิดนิทรรศการ: 24 พฤษภาคม พ.ศ. 2567, ตั้งแต่เวลา 18:00 น.
ณ พิพิธภัณฑ์ศิลปะร่วมสมัยใหม่เอี่ยม จังหวัดเชียงใหม่
พิพิธภัณฑ์ศิลปะร่วมสมัยใหม่เอี่ยมภูมิใจเสนอ ‘ดำรงในการณ์อื่น (LIVING ANOTHER FUTURE)’ นิทรรศการกลุ่มที่เชื้อชวนทุกคนสำรวจในเรื่องเล่าอันเฉพาะเจาะจงที่มนุษย์ให้ความสำคัญต่อการแผ้วถางสู่อนาคตที่ปรารถนา ศิลปินทั้งแปดคนในนิทรรศการนี้มองลึกเข้าไปยังประวัติศาสตร์เกี่ยวกับความเชื่อเหนือธรรมชาติ ตำนานพื้นบ้าน วัตถุนิยม อุดมการณ์ทางการเมือง และผลพวงจากยุคล่าอาณานิคมที่มีส่วนกำหนดทิศทางอนาคตในปัจจุบัน ผลงานของพวกเขาเปรียบเสมือนหน้าต่างที่เปิดให้เห็นว่าบางครั้งความมั่นใจอย่างไม่ประเมินตนของมนุษย์ (หรือความเชื่อ) บ่อยครั้ง ไม่เพียงส่งผลร้ายต่อผู้อื่น หากท้ายที่สุดแล้ว อาจหมายถึงการทรยศหักหลังต่อทั้งดินแดนที่พวกเขาอาศัยและผู้คน
นิทรรศการครอบคลุมทั้งผลงานภาพเคลื่อนไหว ภาพยนตร์ ภาพถ่าย ประติมากรรม ภาพพิมพ์ ศิลปะจัดวาง และเซรามิก ที่ต่างนำเสนอชุดเรื่องราวที่ถูกถักทอผสาน สะท้อนภูมิทัศน์ทางสังคมทั้งจากประเทศไทย เวียดนาม คองโก กัมพูชา จีน โมร็อกโก และปากีสถาน ไม่ว่าจะเป็นผลกระทบจากความเชื่ออย่างไร้ขอบเขตเกี่ยวกับ “สรรพคุณการรักษา” ของนอแรด ที่ผลักให้แรดอยู่ในสถานะสัตว์ใกล้สูญพันธุ์ ความละโมบอย่างไม่สิ้นสุดของเจ้าอาณานิคม (รวมถึงบริษัทขนาดใหญ่ในปัจจุบัน) ที่มีส่วนบ่อนทำลายวิถีชุมชนและที่อยู่อาศัยของผู้คนเพื่อผลประโยชน์ ผู้ชมจะได้ร่วมเป็นประจักษ์พยานในนาฏกรรมของคนจนเมืองที่ใฝ่ฝันถึงการเปลี่ยนชนชั้นทางเศรษฐกิจแต่กลับถูก ‘การพัฒนา’ ผลักให้พวกเขาต้องอยู่นอกสังคม รวมถึงการตีความความเชื่ออย่างสุดโต่งทางศาสนาที่ทำลายความเท่าเทียมขั้นพื้นฐานและตีกรอบบทบาทของผู้หญิง เป็นต้น นอกจากนี้ นิทรรศการนี้ยังเผยให้เห็นว่าความก้าวล้ำในการศึกษาวิทยาศาสตร์ที่จัดหมวดหมู่ธรรมชาติในฐานะ “ทรัพยากร” และการพัฒนาเทคโนโลยี มีส่วนทำลายความสัมพันธ์อันเปราะบางระหว่างถิ่นที่อยู่และผู้อาศัย ซึ่งส่งผลย้อนกลับมาสร้างภัยคุกคามต่อการดำรงอยู่ของพวกเรา
ดำรงในการณ์อื่น ถักทอเชื่อมโยงแนวคิดหลักที่เชื่อมร้อยผลงานในนิทรรศการนี้ไว้ สองประการ หนึ่ง คือบทบาทของการเล่าเรื่องในฐานะการแพร่กระจายทางวัฒนธรรม อาทิ เรื่องเล่าทางอุดมคติ นิทานพื้นบ้าน หรือ ข้อมูลความรู้ที่เป็นรากฐาน และประการที่สอง มุมมองของคนชายขอบ ไม่ว่าจะเป็นด้านเชื้อชาติ สังคม หรือการถูกกีดกันทางวัฒนธรรม ทั้งนี้ การเชื่อมร้อยดังกล่าวยังเป็นความพยายามชี้ให้เห็นถึงการท้าทายสมมติฐานของเราที่มีต่ออดีตผ่านงานวิจัยทางศิลปะ ซึ่งนำไปสู่การเผชิญหน้าเพื่อตั้งคำถามต่อสังคม และกระตุ้นให้เรากลับมาย้อนพิจารณาว่าบางทีตัวตนของเราอาจไม่เป็น อย่างเรื่องเล่าตามที่เราเคยพร่ำบอกตัวเอง
สถาบันอิน-แทนจิเบิล ได้รับเชิญให้คัดสรรผลงานในชุดงานสะสมของพิพิธภัณฑ์ศิลปะร่วมสมัยใหม่เอี่ยม การเลือกผลงานที่นำมาจัดแสดงในครั้งนี้นั้น ไม่เพียงแต่ต่อยอดมุมมองใหม่ให้กับผลงานสะสมระดับนานาชาติของพิพิธภัณฑ์ฯ แต่ยังสร้างบทสนทนาร่วมกันกับผลงานจากศิลปินต่างชาติท่านอื่นๆ ที่มาร่วมจัดแสดง นอกจากนี้ กระบวนการวิจัยและทำความเข้าใจผลงานเหล่านี้ ยังเป็นโอกาสในการส่งเสริมการพัฒนาทางวิชาชีพแก่ภัณฑารักษ์หน้าใหม่อย่าง กมลพรรณ ทิวาวงค์ ซึ่งเป็นผู้ได้รับทุนทำงานด้านภัณฑารักษ์จากพิพิธภัณฑ์ศิลปะร่วมสมัยใหม่เอี่ยม ภายใต้การทำงานร่วมกับสถาบันอิน-แทนจิเบิล
นอกจากนี้ ควบคู่ไปกับการจัดแสดงนิทรรศการ พิพิธภัณฑ์ศิลปะร่วมสมัยใหม่เอี่ยมและสถาบัน อิน-แทนจิเบิล ยังได้ร่วมกันจัดทำกิจกรรมสาธารณะ ทั้งการฉายภาพยนตร์ของเหงียน ตรินห์ ตี (ฮานอย), ไทกิ ศักดิ์พิสิษฐ์ (กรุงเทพฯ), เจน หลิว (นิวยอร์ก) และติโมเตอุส อังกาวัน คุสโน (อัมสเตอร์ดัม/ยอกยาการ์ตา) รวมถึงงานศิลปะแสดงสด โดย ซารินา มูฮัมหมัด (สิงคโปร์) พร้อมกับการแสดงดนตรี, งานบรรยาย, กิจกรรมนำชมโดยภัณฑารักษ์ และงานเสวนาโดยศิลปิน สำหรับข่าวสารและข้อมูลเพิ่มเติม สามารถติดตามผ่านช่องทางโซเชียลมีเดียของพิพิธภัณฑ์ฯ หรือช่องทางอีเมล info@maiiam.com
พิพิธภัณฑ์ศิลปะร่วมสมัยใหม่เอี่ยมและอิน-แอนจิเบิล ขอขอบคุณชาวเชียงใหม่ทุกท่านที่ได้ร่วมแสดงความคิดเห็นต่อศิลปินและผลงานศิลปะในนิทรรศการดำรงในการณ์อื่น ซึ่งความคิดเห็นเหล่านี้จะถูกนำเสนอในนิทรรศการ เรายังขอขอบคุณรวิรุจ สุรดินทร์และ นภิษา ลีละศุภพงษ์ สำหรับการออกแบบสื่อดิจิทัลปฏิสัมพันธ์ ประกอบงานวิจัยทางประวัติศาสตร์ของศิลปิน ‘อุบัติสัตย์’
เกี่ยวกับสถาบัน อิน - แทนจิเบิล
รูปภาพผลงานเหล่านี้เป็นเพียงภาพตัวอย่างเท่านั้น ไม่ได้สะท้อนภาพรวมทั้งหมดของนิทรรศการ