exhibitionsexhibitionsexhibitionsexhibitions
: มารดรของความเป็นอื่น
exhibition
La Terra, พ.ศ.๒๕๖๖ ภาพถ่าย, การพิมพ์ดิจิทัลบนกระดาษผิวเรียบแบบด้าน, ความหนา ๓๕๐ แกรม ๗๖.๒ x ๑๐๑.๖ ซม.

| EXHIBITION |

Solo

Upcoming
วันที่18 สิงหาคม — 21 ตุลาคม 2567
สถานที่
ศิลปิน
Wilawan Wiangthong
ภัณฑารักษ์
Worathep Akkabootara

มารดรของความเป็นอื่น

Wilawan Wiangthong

พิธีเปิดนิทรรศการ วันอาทิตย์ที่ 18 สิงหาคม พ.ศ. 2567 เวลา 19.00 น.

และการแสดงสด เวลา 19.00 น. – 19.30 น.

ณ พิพิธภัณฑ์ศิลปะร่วมสมัยใหม่เอี่ยม จังหวัดเชียงใหม่

พิพิธภัณฑ์ศิลปะร่วมสมัยใหม่เอี่ยม เรียนเชิญทุกท่านเข้าร่วมพิธีเปิดนิทรรศการ มารดรของความเป็นอื่น โดยวิลาวัณย์ เวียงทอง ณ ห้องจัดแสดงงาน 5 และ 6 ของพิพิธภัณฑ์ฯ ในวันอาทิตย์ที่ 18 สิงหาคม พ.ศ. 2567 เวลา 19.00 น เป็นต้นไป พร้อมกันนี้ในพิธีเปิดยังมีการจัดกิจกรรมศิลปะการแสดงสดในชื่อเดียวกับนิทรรศการโดย วิลาวัณย์ และ ร่วมแสดงโดยนักศึกษาจากสาขาศิลปะการแสดง คณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น นิทรรศการและการแสดงชุดนี้จัดขึ้นครั้งแรก ณ ใหม่อีหลี ขอนแก่น

วิลาวัณย์มีกระบวนการทำงานที่สามารถปรับผสานไปมา ไม่ว่าจะเป็นงานภาคสนาม การจำแลงแปลงกายผ่านร่าง (ทรง) ต่าง ๆ โดยเธอได้รังสรรค์ปั้นแต่งเรื่องราวจากการตระเวนสังเกตการณ์อย่างละเอียดตามย่านรอบนอกจังหวัดขอนแก่น ถึงผืนดินและเมืองที่ถูกแทรกแซงและลงทุนหาประโยชน์ทั้งทางเศรษฐกิจและกิจการพลเรือน เสมือนการบ่งชี้ให้เห็นความสัมพันธ์ของทิวทัศน์ สัตว์ พืชและสิ่งที่ไม่ใช่มนุษย์ ล้วนมีบทบาทสำคัญยิ่งในขบวนวิวัฒนาการและผลิตร่วมกัน อันทอดขนานกันไปจนก่อให้เกิดสิ่งแวดล้อมที่ไม่ได้เป็นเพียงแค่วัตถุ หรือฉากหลังที่ประจักษ์ผ่านสายตา

ในนิทรรศการนี้ วิลาวัณย์ทำการจำแลงและแปลงกายเพื่อแสดงให้เห็นถึงเรือนร่างอันเปรียบได้กับโครงการก่อสร้างที่ดำเนินไปอย่างไม่สิ้นสุด โดยได้รับแรงบันดาลใจมาจากมังงะ เกมส์ ตลอดจนความคิดเฟมินิสต์เกี่ยวกับ “ไซบอร์ก” และการทำงานควบคู่ขนานไปกับการประดิษฐ์ชุดคำ “มารดรของความเป็นอื่น” “ตัวมัม” หรือ “ตัวแม่” เป็นดั่งการยั่วเย้าทางความคิด และการสื่อถึงผู้ทรงอิทธิพล ผู้สร้าง ความเป็นแม่ ในขณะที่ความเป็นอื่นถูกทำให้เกิดมากขึ้นทวีคูณจากรูปร่างลักษณะภายนอก ความเป็นอื่นที่ศิลปินสวมทับโดยการเลียนแบบท่าทางของวัวผ่านเครื่องจักรกล หรือการเลียนท่วงท่าแม่วัวสาว ที่ถูกเคลื่อนให้ขยับด้วยแรงคน ร่างที่ปรับเป็นไปอื่นยังปลุกเร้าให้เธอโอบจับบทบาทเพศสถานะ และสำรวจตัวตนเบื้องลึกของผู้อื่น ที่ทั้งหมดนั้นมีทั้งด้านที่จับต้องได้จริงและอุปโลกน์ขึ้นมา

ศิลปินรวบรวมสื่อและวัสดุที่หลากหลายนำมาประกอบและร้อยเรียงเข้าด้วยกัน ก่อกำเนิดเป็นงานชีวรูปหรือเครื่องอุปโภคภายในบ้าน โดยการเก็บสะสมสิ่งหลงเหลือที่พบในสิ่งแวดล้อมจากการไปเยือน ก่อเกิดเป็นผลงานประติมากรรมที่สร้างจากมูลสัตว์ กระดูก คราบงูจากฟาร์มงู ไปจนถึงเศษขยะ นอกจากนี้วิลาวัณย์ยังได้ทำการกำกับการแสดงบนฉากทัศน์ที่อิงเรื่องแต่งเชิงวิทยาศาสตร์ รวมไปถึงการรังสรรค์ชุดผลงานภาพถ่ายและภาพเคลื่อนไหวเพื่อนำเสนอการแรกพบกันระหว่างสายพันธุ์ ผู้ที่เดินทางข้ามผ่านกาลเวลาและสถานที่อันแตกต่างสุดขั้ว สู่การปลุกจินตนาการของกลุ่มนักวิทยาศาสตร์ที่กลับมาเยือนโลก เพื่อพบกับอารยธรรมที่สาบสูญในโลกอนาคตอันมืดมน ณ ยุคสมัยอันแสนไกลโพ้น

นิทรรศการ มารดรของความเป็นอื่น ไม่เพียงแค่ท้าทายจินตนาการของผู้ชมผ่านผลงานสื่อผสมอันหลากหลายที่จัดแสดงในนิทรรศการเท่านั้น แต่ยังเปิดประสบการณ์และเชื่อมโยงทุกท่าน สู่ความเป็น “มารดร ตัวแม่ และ ตัวมัม” ผ่านกิจกรรมสาธารณะอื่น ๆ ที่จะจัดขึ้นตลอดช่วงนิทรรศการ อาทิ การเปิดตัวหนังสือ และ การโปรแกรมฉายภาพยนตร์เป็นต้น

เกี่ยวกับศิลปิน

วิลาวัณย์ เวียงทอง ( เกิด พ.ศ. 2533, วังสะพุง, จังหวัดเลย)

วิลาวัณย์เป็นศิลปินลูกอีสาน เธอเกิดในพื้นที่พหุชาติพันธุ์อันคลาคล่ำด้วยเส้นทางการค้า พื้นฐานเหล่านี้ทำให้เธอสร้างสรรค์โดยไม่จำกัดสื่อ เธอใช้งานภาคสนามเพื่อสำรวจข้อจำกัดและความสามารถในการปรับตัวของมนุษย์ โดยการตัดผ่านพรมแดนระหว่างอาณาบริเวณธรรมชาติกับสิ่งที่มนุษย์สร้าง เธอสำรวจการที่ผู้คนถูกขับเคลื่อนไปด้วยสิ่งที่เรียกว่ามหรสพและเทคโนโลยี อันเกิดขึ้นจากการเพาะปลูก การเพาะพันธุ์ อันชี้ให้เห็นความปรารถนาอันแรงกล้าของมนุษย์ที่จะตัดแต่งลักษณะทางธรรมชาติของสัตว์ พืชและจุลชีพเพื่อที่จะให้ผลประโยชน์แก่ตนเอง แต่ในขณะเดียวกันกลับเป็นการละเลยหรือ ทำร้าย ดังที่วิลาวัลย์พบเห็นจากอาคารเลี้ยงนกที่ถูกทิ้งร้าง เกาะที่คนนำสุนัขมาทิ้ง นักสู้งูชายชราที่มีรายได้เล็กน้อย

ในปี 2566 วิลาวัณย์สร้างผลงาน "The Cowgirl" เป็นจักรกลเหมือนหุ่นที่ถูกเชิดจากวัสดุสื่อประสม เพื่อที่จะเลียนแบบอากัปกิริยาของวัว หลังจากที่เธอเข้าไปสำรวจชีวิตตลาดวัวควายที่ถูกขับเคลื่อนด้วยนายฮ้อยชาย มันตั้งอยู่ชายขอบของตัวเมืองขอนแก่น โดยเธอต้องการที่จะพลิก ให้เห็นบทบาทของภาพตัวแทนสินทรัพย์ทางเศรษฐกิจในโลกปศุสัตว์ที่ถูกบดบัง โดยอ้างอิงไปถึงขบวนการให้กำเนิดจากร่างกายผู้หญิง เธอมุ่งชี้ให้เห็นว่ามดลูกของวัวสาวคือปัจจัยการผลิต

นอกจากนั้น วิลาวัณย์ ยังสนใจในศาสตร์แห่งการ “แปลง” หรือการเป็นตัวตนอื่น อย่างจิตวิทยา พันธุศาสตร์ ประวัติศาสตร์บอกเล่า เรื่องบอกต่อ ที่ช่วยให้เธอเชื่อมกลับไปหาความทรงจำเกี่ยวกับครอบครัว ตำนานรักข้ามชาติ ที่ไม่เพียงถูกนำมาล้อและเล่าซ้ำ ในสื่อยอดนิยม หากแต่สื่อถึงความหยุ่นเหลวในระดับตัวตนปัจเจกและสังคม เธอนับเรื่องเล่าที่ท่วมท้นเหล่านี้ในฐานะโครงสร้างพื้นฐานของความรู้ที่ขับเคลื่อนผัสสะ ชุดของความรู้ชิ้นเล็กชิ้นน้อย สามารถแพร่กระจายเข้าไปในชีวิตประจำวัน ไม่ว่าจะเป็น ลัทธิพิธีทางวิญญาณ การแสดงยอดนิยม

วิลาวัณย์ร่วมในนิทรรศการทั้งในประเทศและนานาชาติที่สำคัญดังนี้ “The Cowgirl” ใน S.O.E: We Trade Everything, ขอนแก่น (2566), 'Crossplay' โดยผีฟ้า คอลเลคทีฟ, ฆัลท์เอ็กซ์ ขอนแก่น (2565), “The Enclose Garden Multi Sensory” ร่วมกับ “Heroines' Wave” กลุ่มศิลปินหญิงนานาชาติ (2564), “The Blue war” ชุดของศิลปะแสดงสดใน Lviv School of Performance Art, ยูเครน (2562), “Gruel series” ที่ Undisclosed Territory Live Arts Festival# 11:We Are What We Eat ,Performance Art Festival, อินโดนีเซีย (2561) “Balloon series” เทศกาลศิลปะแสดงสดนานาชาติซีอาน ,ซีอาน, จีน (2559), และล่าสุดนิทรรศการแสดงเดี่ยวครั้งแรกในต่างประเทศ “Into the Oyster Heaven” ที่ Siao-Long Cultural Park, ไถ่หนาน, ไต้หวัน วิลาวัณย์จบการศึกษาทั้งในระดับปริญญาบัณฑิต และ ปริญญามหาบัณฑิต จากสาขาสื่อผสม คณะจิตรกรรม ประติมากรรมและภาพพิมพ์ มหาวิทยาลัยศิลปากร

เกี่ยวกับภัณฑารักษ์

วรเทพ อรรคบุตร (เกิด พ.ศ. 2519, จังหวัดศรีสะเกษ)

ความสนใจของเขาครอบคลุมการเขียน การวิจัย และคัดสรรผลงานศิลปะร่วมสมัย โดยเน้นที่พลวัตและวิกฤตการณ์ระดับท้องถิ่นที่พบทั่วไปในชีวิตประจำวัน เขาเป็นภัณฑารักษ์ร่วมให้ศาลาไทย เวนิสเบียนนาเล่ ครั้งที่ 55 (2566) ร่วมคัดสรรปลอดภัยสถาน “Safe Place in the Future (?): Dystopia Now Utopia Never” กับโสมสุดา เปี่ยมสัมฤทธิ์ หอศิลป์บ้านจิม ทอมป์สัน กรุงเทพ ๒๕๕๕ และพิพิธภัณฑ์ศิลปะและการออกแบบ วิทยาลัยลาซาลล์ กรุงมะนิลา ฟิลิปปินส์ (2556) วรเทพมีผลงานเขียนและวิจัยตีพิมพ์ล่าสุดคือ S.O.E: We Trade Everything โดยเว็บไซต์ artandmarket สิงคโปร์ และ “การริเริ่มการผลิตความรู้ศึกษา: วิธีวิทยาเอเชียอาคเนย์” ร่วมกับคณะนักวิจัย สนับสนุนโดยสถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (2565)

cover
Red Centauri, พ.ศ.๒๕๖๖ ศิลปะการจัดวาง วิดิโอความละเอียดสูง ๑๕ นาที

cover
Mother of Mountain, พ.ศ.๒๕๖๖ ภาพถ่าย, การพิมพ์ดิจิทัลบนกระดาษผิวเรียบแบบดา้น, ความหนา ๓๕๐ แกรม ๒๓๓.๖๔ x ๓๕๐ ซม.

cover
Le cheval et nous, พ.ศ.๒๕๖๖ ภาพถ่าย, การพิมพ์ดิจิทัลบนกระดาษผิวเรียบแบบด้าน, ความหนา ๓๕๐ แกรม ๑๐๑.๖ x ๗๖.๒ ซม.

cover
Le chien et moi, พ.ศ.๒๕๖๖ ภาพถ่าย, การพิมพ์ดิจิทัลบนกระดาษผิวเรียบแบบด้าน, ความหนา ๓๕๐ แกรม ๗๖.๒ x ๑๐๑.๖ ซม.

Installation View