exhibitionsexhibitionsexhibitionsexhibitions
: ใหม่เอี่ยม พาวิลเลี่ยน | Point of No Concern
exhibition

| EXHIBITION |

วันที่08 ธันวาคม 2566 - 05 กุมภาพันธ์ 2567
ศิลปิน
สหพล ชูตินันท์, กอบพงษ์ ขันทพันธ์, ภูวมินทร์ อินดี, นนทนันทร์ อินทรจักร์, ลลิตา สิงห์คําปุก, เหล้ากบฏเงี้ยว และ อนุรักษ์ ธัญญะปาลิต
ภัณฑารักษ์
อนุสรณ์ ธัญญะปาลิต และอธิคม มุกดาประกร

ใหม่เอี่ยม พาวิลเลี่ยน | Point of No Concern

สหพล ชูตินันท์, กอบพงษ์ ขันทพันธ์, ภูวมินทร์ อินดี, นนทนันทร์ อินทรจักร์, ลลิตา สิงห์คําปุก, เหล้ากบฏเงี้ยว และ อนุรักษ์ ธัญญะปาลิต

เส้นทางพ่อค้าวัวต่างเป็นเส้นทางที่เคยเชื่อมชุมชนปลายเทือกเขาหิมาลัย นับตั้งแต่เชียงรุ้งเลาะตามแนวเขาไปจนออกทะเลอันดามันที่มะละแหม่ง เส้นทางนี้ได้สานสัมพันธ์เครือข่ายกลุ่มชนตามหมู่บ้านและเมืองรอบ ๆ แนวหุบเขาในการแลกเปลี่ยนสินค้าและความเชื่อ เรื่องเล่ามากมายไหลรินไปกับผู้สัญจรบนเส้นทางและปะทะประสานกันเป็นความลื่นไหลทางอัตลักษณ์และวัฒนธรรมมายาวนานกว่าศตวรรษ เส้นทางนี้หมดความสำคัญลงไปพร้อมกับอาชีพพ่อค้าวัวต่างเมื่อมีการสร้างทางหลวงแผ่นดินกลางคริสต์ศตวรรษที่ 20 เช่นเดียวกับอัตลักษณ์ ประเพณี และความเชื่อของผู้คนหลายอารยธรรมบนเส้นทางนี้ที่ถูกเลือนให้รางไปเมื่อเส้นทางนี้ถูกแยกออกจากกันด้วยรัฐชาติ โดยบางส่วนถูกผนวกเข้าเป็นมณฑลพายัพของสยาม

แม้ว่าในปัจจุบันการเมืองการปกครองบนพื้นที่นี้จะเปลี่ยนชื่อแปลงนามไปจากยุคสยามแล้ว แต่กลับไม่เคยนำพาไปสู่การให้โอกาสผู้คนได้มีอำนาจการตัดสินใจที่สัมพันธ์กับการรับรู้ตัวตนของตัวเองเสียที รัฐชาติยังพยายามบริหารอำนาจด้วยการจำกัดอัตลักษณ์ และแปรรูปความแตกต่างหลากหลายไปเป็นสินค้าทางวัฒนธรรมที่ไม่สัมพันธ์กับวิถีชีวิต เราจึงหยิบยกเส้นทางนี้กลับมาร่างรูปให้เกิดมุมมองอื่นต่อภาคเหนือของไทยในลักษณะของเครือเถาไร้ศูนย์กลางและพรมแดน แล้วเชื่อมร้อยเรื่องเล่าจากศิลปิน/นักวัฒนธรรมผู้มีถิ่นกำเนิดอยู่ตามรายทางสายนี้ในปัจจุบันที่ทำงานด้วยกระบวนการค้นคว้าสำรวจ พวกเขาได้ถ่ายทอดเรื่องราวของพื้นที่ ความทรงจำ ประวัติศาสตร์บอกเล่า และการสืบหาความเป็นมาขนาดย่อมของสามัญชนที่ยากจะได้รับการจดบันทึกไว้ในอดีต ซึ่งล้วนมีเสน่ห์น่าบอกเล่าต่อกัน ข้ามผ่านกาลเวลา และเส้นทางที่เราจะก้าวเดินกันต่อไป

ผลลัพธ์ของโครงการนี้ได้เผยให้เห็นการรวมศูนย์อำนาจในทุกมิติโดยเฉพาะในทางวัฒนธรรม การล่าอาณานิคมและการเข้ามาของรัฐชาติสมัยใหม่ที่ขีดเส้นแบ่งพรมแดนสร้างคนในคนนอก ความเจ็บปวดจากการถูกแบ่งแยกออกจากสิ่งแวดล้อมของวิถีชีวิต การสูญเสียศักดิ์ศรีที่จะปกป้องความเป็นตัวของตัวเอง อันเป็นผลเกี่ยวเนื่องกับประวัติศาสตร์บาดแผลไล่ย้อนกลับไปนับร้อยปีที่ยังไม่ได้รับการเยียวยา

ท่ามกลางกระแสสำนึกรักบ้านเกิด หวนหาพื้นถิ่น เพื่อก่อร่างสร้างตัวตนขึ้นใหม่ที่ล้อกันไปกับพลวัตรการกระจายอำนาจที่ยังกระท่อนกระแท่นอยู่ นิทรรศการนี้จึงเป็นข้อเสนอหนึ่งให้เราปลดเปลื้องสายตาที่เห็นแต่ความสวยงามของต่างจังหวัด และใส่ใจมองความจริงให้ชัดขึ้นด้วยการศึกษาเหตุการณ์ประวัติศาสตร์ขนาดย่อมในฐานปัจเจกและชุมชนวัฒนธรรมย่อย เพราะพื้นที่ไม่ใช่ทรัพยากรที่ปราศจากชีวิต

พิพิธภัณฑ์ศิลปะร่วมสมัยใหม่เอี่ยม เห็นความสำคัญของโครงการนี้และนำเสนอเป็นพาวิลเลียนใน Thailand Biennale, Chiang Rai 2023 ร่วมกับสํานักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย ซึ่งครั้งนี้ศิลปินผู้ริเริ่มโครงการ อนุสรณ์ ธัญญะปาลิต ได้ทำงานเชิงภัณฑารักษ์ในความร่วมมือกับ อธิคม มุกดาประกร ในการร้อยเรียงเรื่องราวจากศิลปินร่วมสมัยในพื้นที่ พาวิลเลียนนี้จะดำเนินการเป็นระยะเวลา 2 เดือนจัดแสดงผลงานศิลปะหลายแนวทาง และกิจกรรมภาคความรู้ที่จะเสริมฐานบนรากลึกของศิลปินแต่ละคนให้สามารถรองรับการถีบทะยานตัวให้กับความฝันต่อไปของหมู่คนในท้องถิ่นนี้

cover

1

นนทนันทร์ อินทรจักร์ (เกิดที่ตาก พ.ศ. 2532 พำนักและทำงานอยู่ที่ตาก)

ขาก้อม หมายเลข 1 และ 2, พ.ศ. 2566

จิตรกรรมสื่อผสม

2

กอบพงษ์ ขันทพันธ์ (เกิดเชียงราย พ.ศ. 2533 พำนักและทำงานอยู่ที่เชียงราย)

ผลงานชุด กรงขัง(มายา)บนหน้าแผ่นดิน, พ.ศ. 2566

สีอะคริลิค ชาโคล สีฝุ่น สีไม้ ดินสอและ สีสเปรย์บนกระดาษ

3

สหพล ชูตินันทน์ (เกิดที่อุตรดิตถ์ พ.ศ. 2542 พำนักและทำงานอยู่ที่เชียงใหม่)

The Unarchiver, พ.ศ.2562 - 66

ภาพปะติดแบบดิจิทัล พิมพ์สีบนกระดาษ และ งานสื่อดิจิทัลที่เน้นการมีส่วนร่วมของผู้ชม

4

กลุ่มนักเคลื่อนไหวจังหวัดแพร่ (ก่อตั้งเมื่อปี พ.ศ. 2563, แพร่)

เหล้ากบฏเงี้ยว

5

ลลิตา สิงห์คำปุก (เกิดที่เชียงราย พ.ศ. 2539, พำนักและทำงานอยู่ที่กรุงเทพฯ)

การหายไปที่คงอยู่, พ.ศ. 2566

ศิลปะจัดวาง

6

ภูวมินทร์ อินดี (เกิดที่ลำปาง พ.ศ.2539 พำนักและทำงานอยู่ที่กรุงเทพฯ)

Lost forest, พ.ศ. 2566

ภาพเคลื่อนไหวจัดวาง

7

อนุรักษ์ ธัญญะปาลิต (เกิดที่แพร่ พ.ศ. 2535 พำนักและทำงานอยู่ที่เชียงใหม่)

ยีโดะระ, พ.ศ. 2566

ศิลปะจัดวาง เสียง